คุณแม่มือใหม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรหลังคลอด ?
คุณแม่มือใหม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรหลังคลอด ?
ยินดีกับคุณแม่ป้ายแดงทุกท่านที่ได้โอบกอดของขวัญชิ้นสำคัญไว้ในอ้อมแขน หลังภารกิจการคลอดลูกน้อยผ่านไปได้ด้วยดี การขจัดความกังวลใจเกี่ยวกับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปของคุณแม่ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ ให้กลับมาแข็งแรงโดยไวก็เป็นอีกช่วงเวลาที่สำคัญ ดังนั้น อย่าลืมเอาใจใส่สุขภาพช่วงหลังคลอดและดูแลตนเองให้รอบด้าน ทั้งนี้หากคุณแม่มือใหม่มีความเข้าใจและดูแลตัวเองหลังคลอดได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีและแข็งแรงได้เช่นเดิม
ฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาแข็งแรงสดใสได้โดยไว คุณแม่มือใหม่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและการดูแลตัวเองเรื่องใดบ้าง จดลิสต์เหล่าไว้แล้วนำนี้ไปใช้กันได้เลย
คุณแม่มือใหม่ หลังคลอดต้องเตรียมอะไรบ้าง ?
![]() |
คู่มือคุณแม่หลังคลอด |
1. คุณแม่มือใหม่ หลังคลอดต้องเตรียมตัวเรื่องอาหาร ที่ต้องระวังเพื่อลูกน้อย
คุณแม่มือใหม่ ควรกินอะไรดี คำถามแรกๆ ที่เหล่าคุณแม่เป็นกังวล ซึ่งคุณแม่มือใหม่ควรรับประทานอาหารให้ครบตามหลักโภชนาการ แม้สารอาหารจะไม่ได้ถูกส่งผ่านสายรกโดยตรงเหมือนระยะตั้งครรภ์ แต่คุณแม่ยังสามารถให้น้ำนมที่เปี่ยมด้วยความรักและคุณประโยชน์แก่ลูกน้อยได้ โดยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ใช้วัตถุดิบที่ปรุงสุก สะอาด อาจเสริมด้วยการคัดสรรอาหารที่มีกากใยสูง เน้นสรรพคุณช่วยเพิ่มน้ำนมให้กับคุณแม่หลังคลอด อาทิ ขิง หัวปลี ใบกะเพรา ฟักทอง เป็นต้น รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ น้ำอัดลม และงดเว้นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ยังคงเป็นสิ่งควรทำอย่างต่อเนื่อง และสำหรับกรณีที่ต้องการใช้ยาเพื่อการรักษาอาการใดๆ ก็ตามควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน เนื่องจากยาบางชนิดหลังสารออกฤทธิ์ผ่านทางน้ำนมได้
2. คุณแม่มือใหม่ หลังคลอดต้องเตรียมตัวเรื่องจิตใจและอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย
ในช่วงเวลา 6 สัปดาห์แรกหลังคลอดบุตร จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายกับตัวคุณแม่ ทั้งด้านฮอร์โมน จิตใจและร่างกาย โดยส่วนของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกายของคุณแม่จะลดต่ำลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสรีระร่างกายและความกังวลใจในการปรับตัว เพื่อดูแลทารกแรกเกิดให้ได้อย่างเต็มที่ จะมีความอ่อนไหวง่ายมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดเป็นความแปรปรวนทางด้านอารมณ์ ที่อาจแสดงออกด้วยอาการฉุนเฉียวหงุดหงิดง่ายระหว่างวัน เครียด เสียใจ ไปจนถึงการซึมเศร้าแบบไม่มีเหตุผล ซึ่งในภาวะเศร้านี้คุณแม่ต้องคอยสังเกตตัวเองให้ดี แต่ทั้งนี้ภาวะเหล่านี้จะดีขึ้นได้ด้วยกำลังใจจากคุณพ่อและการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดโดยคนรอบข้าง
แต่หากคุณแม่มีอาการรุนแรงไปจนถึงนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ความผูกพันที่มีต่อลูกหายไป เกิดความคิดอยากทำร้ายตนเองและลูก อารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง จัดเป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ในกลุ่ม โรคซึมเศร้าหลังคลอด ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
3. คุณแม่มือใหม่ หลังคลอดต้องเตรียมตัวดูแลตัวเอง เพื่อสุขภาพที่ดี
นอกจากเรื่องอาหาร ภาวะหลังคลอดทางด้านจิตใจและอารมณ์ที่คุณแม่มือใหม่ต้องเตรียมตัวแล้ว สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องทำควบคู่กันไปคือการดูแลตัวเองทางด้านร่างกาย ซึ่งสามารถดูแลอย่างถูกวิธีได้ดังนี้
- แผลฝีเย็บ แพทย์จะทำการเย็บปิดแผลด้วยไหมละลายในการคลอดโดยวิธีธรรมชาติ บาดแผลจะสมานและดีขึ้นประมาณ 7 วัน แต่อาจรู้สึกเจ็บแปล๊บเมื่อขยับร่างกายต่อไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์ โดยการดูแลแผลผ่าตัดหลังคลอด คุณแม่สามารถทำความสะอาดแผลด้วยตนเองได้ โดยใช้น้ำสะอาดล้างจากด้านหน้าไปด้านหลัง จากนั้นซับแผลให้แห้งด้วยผ้าสะอาดทันที ห้ามปล่อยให้อับชื้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยและงดลงแช่อ่างน้ำในช่วงเดือนแรก กรณีแผลผ่าตัดที่หน้าท้องแพทย์จะปิดบาดแผลด้วยแผ่นปิดแผลแบบกันน้ำเพื่อให้คุณแม่อาบน้ำและใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยแผลจะสมานในเวลาประมาณ 7 วัน ระหว่างนี้หากสังเกตว่ามีน้ำซึม เจ็บแผล แผลบวมแดง แนะนำให้พบแพทย์ ทั้งนี้หลังแผลสมานดีคุณแม่บางท่านอาจมีการเจ็บแผลขณะเคลื่อนไหวร่างกายอยู่บ้าง แต่อาการจะค่อยๆ ทุเลาและดีขึ้นตามลำดับในไม่ช้า
- น้ำคาวปลา ขั้นตอนที่ร่างกายจะทำการขับเศษเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกและเลือดที่หลงเหลือจากการคลอด มองผิวเผินอาจคล้ายประจำเดือนในวันมามาก นับเป็นสัญญาณปกติของคุณแม่หลังคลอด 3-4 วันแรก น้ำคาวปลาที่ว่าจะมีสีแดงเข้ม ค่อยๆ จางลงเป็นสีเหลือง และจางจนหมดไปเองหลังคลอด 3-6 สัปดาห์ การเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ ระหว่างวันจะช่วยให้น้ำคาวปลาขับออกมาได้ง่ายและร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
- เต้านมคัดตึง เมื่อเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นจากการสะสมน้ำนมปริมาณมากและไม่ถูกระบายออก อาจทำให้คุณแม่หลังคลอดมีอาการเจ็บ ตึง แข็ง ไปทั่วบริเวณเต้าและลานนม ครั่นเนื้อครั่นตัวราวกับกำลังมีไข้ไม่สบายตัว สามารถบรรเทาอาการดังกล่าวได้โดยการนำทารกเข้าเต้าดูดนมทันทีหลังคลอด และทำบ่อยๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบประมาณ 10 นาที นวดคลึงหัวนมเปิดทางให้น้ำนมไหลได้สะดวก ที่สำคัญอย่าลืมรักษาความสะอาดก่อนและหลังให้นมทุกครั้งโดยการใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดบริเวณหัวนมและลานนม เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารและภูมิต้านทานที่ดีที่สุดจากแม่
- การพักผ่อน ช่วงเวลาหลังคลอดในโรงพยาบาล ทีมแพทย์และพยาบาลมืออาชีพจะช่วยให้คุณแม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่โดยปราศจากความกังวล แต่เมื่อกลับบ้าน การปรับตัวให้เข้ากับลูกน้อยที่มีเวลานอนหลับเอาแน่เอานอนไม่ได้จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกครอบครัวได้เจอ คุณแม่จึงควรจัดสรรเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเหมาะสม แบ่งเวลางีบระหว่างวันให้ตนเองประมาณ 20 นาที เพื่อเสริมความกระปรี้กระเปร่า หรือใช้โอกาสเวลาที่ลูกหลับพักผ่อนไปพร้อมกัน อาจขอแรงคุณพ่อให้ช่วยดูเป็นบางเวลาแล้วหันไปทำกิจกรรมที่ได้อยู่กับตัวเองในช่วงเวลาสั้นๆ อย่างการอาบน้ำ เดินเล่น หรือออกกำลังกายเบาๆ เพื่อให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข ลดความวิตกและลดอาการเหนื่อยล้าสะสมที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ได้
ภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่หลังคลอดทุกท่าน เพียงคุณแม่มือใหม่เตรียมพร้อมและเรียนรู้วิธีการดูแลที่ถูกต้องไว้ตั้งแต่ต้น หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายไปพร้อมกับการเจริญวัยของลูกน้อย หากพบอาการผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาอย่างทันท่วงที เท่านี้ก็จะช่วยให้คุณแม่มือใหม่สามารถดูแลตัวเองหลังคลอดและกลับมาแข็งแรงสดใสได้อย่างรวดเร็ว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น